งาช้าง ๑

Hibiscus grewiifolius Hassk.

ชื่ออื่น ๆ
จงเพียร, ปอเคียน (สุราษฎร์ธานี); ชบาหางกระรอก (กลาง); ชบาไพร (ทั่วไป); พันตะวัน (ตราด)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวประปราย เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกสีเทา ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกบานรูปคล้ายระฆัง ด้านนอกสีเหลืองมีแถบสีชมพูอมแดงบริเวณที่ไม่ซ้อนทับกัน โคนกลีบดอกด้านในสีน้ำตาลแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีเกือบกลม เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนยาวมากกว่าผลเมล็ดจำนวนมาก รูปคล้ายไต

งาช้างชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๕-๑๐ ม. หรืออาจพบสูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวประปราย เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เปลือกสีเทา

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๖-๘.๕ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนกลม รูปลิ่มหรือเว้ารูปหัวใจเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบ


บางคล้ายกระดาษหรืออาจพบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวประปรายตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๑๒ เส้น อาจพบเส้นโคนใบ ๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๔.๕ ซม. มีขนรูปดาวประปรายหูใบรูปแถบหรือรูปเส้นด้าย ขนาดเล็ก กว้าง ๒-๔ มม.ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกบานมีขนาดใหญ่ รูปคล้ายระฆัง สีเหลือง ก้านดอกยาว ๐.๕-๓ ซม. มีขนรูปดาวประปราย ริ้วประดับอยู่เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง มี ๖-๑๐ ริ้ว รูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดทน มีขนรูปดาวประปราย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปถ้วย ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๒ ซม. สีเขียวหรือสีเขียวแกมแดง ด้านนอกมีขนรูปดาวประปราย ด้านในมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ บิดเวียน ด้านนอกสีเหลืองมีแถบสีชมพูอมแดงบริเวณที่ไม่ซ้อนทับกัน โคนกลีบดอกด้านในสีน้ำตาลแดง บริเวณกลางดอกดูคล้ายรูปกังหัน กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว ๖-๑๐ ซม. กว้าง ๕-๗ ซม. ปลายมนขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร รูปหลอด ยาว ๒-๔ ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูส่วนที่แยกเป็นอิสระสั้นอยู่โดยรอบตลอดความยาวของเส้าเกสร อับเรณูรูปรีกว้างหรือเกือบกลม ขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว โผล่พ้นปากหลอดเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีเกือบกลม กว้าง ๒-๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนยาวมากกว่าผล เมล็ดจำนวนมาก รูปคล้ายไต ยาวประมาณ ๕ มม.

 งาช้างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ที่สูงใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงตุลาคมเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งาช้าง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus grewiifolius Hassk.
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
grewiifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1894)
ชื่ออื่น ๆ
จงเพียร, ปอเคียน (สุราษฎร์ธานี); ชบาหางกระรอก (กลาง); ชบาไพร (ทั่วไป); พันตะวัน (ตราด)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์ และ นางจารีย์ บันสิทธิ์